เหตุผลและความเป็นมาของการจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ส.
การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายสำคัญของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2501 รัฐบาลขณะนั้นได้ประกาศให้ยกเลิกการเสพฝิ่น แต่ปัญหายาเสพติดก็มิได้หมดไป กลับปรากฏว่ามียาเสพติดชนิดใหม่ ที่รุนแรงกว่าฝิ่น คือเฮโรอีนระบาดอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ (ก.ป.ส.) ขึ้นในปี 2504 ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและประสานงาน เพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน
การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2519 ให้ไว้ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2519 และมาตรา 11 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรียกโดยย่อว่า"สำนักงาน ป.ป.ส." มีหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการและปฏิบัติงาน ธุรการอื่น ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แบ่งส่วนราชการ ณ ขณะนั้นเป็น 7 กอง คือ สำนักงานเลขานุการกรม กองนโยบายและวางแผน กองการต่างประเทศ กองสารนิเทศ กองสืบสวนสอบสวนและปราบปราม กองนิติการและพิสูจน์หลักฐาน กองประสานงานและตรวจสอบ
การเริ่มดำเนินงานในปีงบประมาณ 2520 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับงบประมาณ ในปี 2520 จำนวน 8,173,124 บาท และได้รับอนุมัติอัตรากำลังจาก ก.พ.รวมทั้งสิ้น 334 อัตรา เมื่อปี 2519 สำนักงานฯใช้ตึก บัญชาการและตึกไทยคู่ฟ้า(บางส่วน)ในทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ทำงานอยู่ประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นได้ใช้ศาลาสันติธรรมจนถึงตุลาคม 2527
เมื่อปี 2528 ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน ป.ป.ส. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลตำรวจตรีเภา สารสิน (ยศขณะนั้น)เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะจัดสร้างอาคารสำนักงานฯขึ้น เพื่อเป็นที่ทำการถาวร จนกระทั่งรัฐบาลซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เห็นความจำเป็น จึงได้อนุมัติให้จัดสร้างอาคาร 6 ชั้น ในที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ซึ่งอยู่ติดกับซอยบุญชูศรี ถนนดินแดง มีเนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา จึงเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงาน ป.ป.ส. จนถึงปัจจุบันนี้
การบริหารงาน สำนักงาน ป.ป.ส.
เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งนายประมุข สวัสดิมงคล เป็นเลขาธิการ ป.ป.ส.คนแรก