ป.ป.ส. เผาทำลายซาฟรอล ยาเสพติดให้โทษประเภท 4 กว่า 16 ตัน ตัดวงจรผลิตยาอีได้กว่า 20 ล้านเม็ด

เมื่อวันที่ : 11 มิ.ย. 2558 00:00
20 ครั้ง

              วันนี้ (11 มิถุนายน 2558)  เวลา 11.00 น. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษประเภท 4 (ไอโซซาฟรอลและซาฟรอล) ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ร่วมกับกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดตราด จังหวัดสมุทรปราการ และมีคณะทูตานุทูต เจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน จำนวน 16,165 กิโลกรัม ตามมาตรา 101 ทวิแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษของกลาง พ.ศ. 2541 ณ บริษัทอัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) จังหวัดสมุทรปราการ
            พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ความสำคัญและเห็นว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ยั่งยืน คือ การยุติการผลิตยาเสพติด จากการจับกุมหลายครั้งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านของการลักลอบลำเลียงยาเสพติด ดังนั้นแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญประการหนึ่งในการยับยั้งการผลิตยาเสพติดได้ คือ การควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์อย่างจริงจังมิให้ไปสู่แหล่งผลิตยาเสพติดได้ และเมื่อไม่นานมานี้ได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ส. จัดการประชุมระหว่างประเทศในภูมิภาคกับ 8 ประเทศที่ประสบปัญหาในการเป็นแหล่งผลิตสารตั้งต้นและการลักลอบลำเลียงสารตั้งต้นในปริมาณมาก รวมถึงประเทศที่พบว่ามีการนำสารตั้งต้นไปใช้ในทางที่ผิด ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ หารือแนวทางและกระชับความร่วมมือในการควบคุม การสกัดกั้นและเสริมสร้างมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาสารตั้งต้นดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความเป็นระบบต่อเนื่อง และสอดคล้องกันในระดับภูมิภาคด้วย นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัยร่วมกับ 4 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน  ประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และราชอาณาจักรไทย ระยะที่ 2  (12 ม.ค.-12 มี.ค.58) สามารถจับกุมสารตั้งต้น เมทิลีนคลอไรด์ (Methylene chloride) ได้ถึง 20 ตัน ซึ่งสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ หากถูกลักลอบนำเข้าไปจนถึงแหล่งผลิตได้ จะสามารถผลิตเป็นยาบ้าได้ถึง 167,175,000 เม็ด คิดเป็นมูลค่าถึง 8,358,750,000 บาท (คำนวณจากราคาโรงงานต่ำสุดเม็ดละ 50 บาท) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการยึดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เหล่านี้เป็นการลดศักยภาพในการผลิตยาเสพติด และส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยและในแถบภูมิภาคนี้
               นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้ข้อมูลว่า “สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ยึดของกลางซาฟรอลและได้รักษาไว้กับสถานีตำรวจภูธรคลองใหญ่ จังหวัดตราด ตั้งแต่ ปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้คดีนี้ในส่วนการริบของกลางคดีถึงที่สุดแล้ว จึงต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษของกลาง พ.ศ. 2541 จึงเห็นควรให้มีการทำลายด้วยวิธีการเผาทำลาย ณ บริษัทอัคคีปราการ จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากของกลางมีจำนวนมากและและเห็นว่าควรป้องกันมิให้นำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ครั้งนี้ถือเป็นการเผาทำลายซาฟรอล เป็นครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. เคยมีการเผาทำลายซาฟรอลครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2553 ปริมาณรวมน้ำหนัก 50.4 ตัน หรือนับเป็นจำนวน 240 ถัง สามารถนำไปผลิตเป็นยาอี หรือ เอ็กซ์ตาซี ได้ประมาณกว่า 63 ล้านเม็ด”           
              สำหรับสารซาฟรอลและไอโอซาฟรอล ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 4 กรณีผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายต้องขออนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี ปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท ถ้าครอบครองตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป จำคุก 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับ 100,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท นอกจากนี้ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1988   ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย ได้กำหนดให้ประเทศผู้ส่งออกจะต้องแจ้งประเทศนำเข้าก่อนส่งออก เพื่อให้มีการตรวจสอบก่อนว่าจะนำไปใช้อย่างถูกกฎหมายในอุตสาหกรรมยา น้ำหอม หรืออาหาร เท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการลักลอบนำไปผลิตยาเสพติดประเภทยาอี ยาเลิฟ หรือเอ็กซ์ตาซี  เมื่อนำสารดังกล่าวถูกนำมาใช้ผลิตเป็นยาอี ยาเลิฟ หรือเอ็กซ์ตาซี แล้วจะถือว่ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ซึ่งการผลิต นำเข้า ส่งออก หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาท - 5 ล้านบาท ถ้ากระทำเพื่อจำหน่ายต้องระวางโทษประหารชีวิต 
              ยาอี ยาเลิฟ เอ็กซ์ตาซี เป็นยาเสพติดในกลุ่ม (Club Drugs) ที่แพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบเที่ยวกลางคืน ออกฤทธิ์ใน 2 ลักษณะ คือ ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะสั้น ๆ หลังจากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ฤทธิ์ของยาจะทำให้ผู้เสพรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียง และการมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ อันเป็นสาเหตุ   ที่จะนำไปสู่พฤติกรรมเสื่อมเสียต่าง ๆ และจากการค้นคว้าวิจัยของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์หลายท่าน พบว่ายาชนิดนี้มีอันตรายร้ายแรง แม้จะเสพเพียง 1-2 ครั้ง ก็สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ผู้เสพมีโอกาสติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย และยังทำลายระบบประสาททำให้เซลส์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ให้มีความสุข หลั่งออกมามากกว่าปกติหากใช้ไประยะหนึ่งสารดังกล่าวจะลดลง ซึ่งผลจากการทำลายดังกล่าว ทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะของอารมณ์ที่เศร้าหมองหดหู่อย่างมาก กลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า และมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ

search download
Q&A FAQ