ป.ป.ส. เผาทำลายสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดกว่า 21 ตัน ตัดวงจรผลิตยาบ้า 250 ล้านเม็ด ไอซ์ 5,000 กิโลกรัม หรือเฮโรอีน 2,500 กิโลกรัม

เมื่อวันที่ : 28 เม.ย. 2560 00:00
18 ครั้ง

              วันนี้ (28 เมษายน 2560 ) เวลา 10.00 น. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานในพิธีเผาทำลายสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองกำลังผาเมือง ตำรวจภูธรภาค 5 กรมโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท อัคคีปราการ จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีเจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดประจำประเทศไทย (Liaison Officer) และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย ร่วมเป็นสักขีพยานในการเผาทำลายสารเคมีที่ใช้ผลิตยาเสพติด ได้แก่ เมทิลีนคลอไรด์ จำนวน 20,000 กิโลกรัม กรดไฮโดรคลอริก จำนวน 500 กิโลกรัม และโซเดียมคาร์บอเนต จำนวน 800 กิโลกรัม ณ บริษัทอัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) จังหวัดสมุทรปราการ
            นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรณะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ความสำคัญและเห็นว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ยั่งยืน คือ การยุติการผลิตยาเสพติด จากการจับกุมหลายครั้งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านของการลักลอบลำเลียงยาเสพติด ดังนั้นแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญประการหนึ่งในการยับยั้งการผลิตยาเสพติดได้ คือ การควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์อย่างจริงจังมิให้ไปสู่แหล่งผลิตยาเสพติดได้ ซึ่งการเผาทำลายสารเคมีในครั้งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือตามโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัยที่ทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และไทย เพื่อได้ร่วมกันสกัดกั้นสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด ไม่ให้ไหลเข้าสู่แหล่งผลิตพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และร่วมมือกันสกัดกั้นยับยั้งไม่ให้สามารถนำไปผลิตยาเสพติดออกมาแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้หากถูกลักลอบนำเข้าไปจนถึงแหล่งผลิตได้ จะสามารถผลิตเป็นยาเสพติดได้ ดังนี้
                   - เมทิลีนคลอไรด์  จำนวน 20,000 กิโลกรัม ผลิตยาบ้า 200 ล้านเม็ด หรือไอซ์ 4,000 กิโลกรัม หรือเฮโรอีน 800 กิโลกรัม 
                  - กรดไฮโดรคลอริก จำนวน 500  กิโลกรัม ผลิตยาบ้า  50 ล้านเม็ด หรือไอซ์ 1,000 กิโลกรัม หรือเฮโรอีน 1,500 กิโลกรัม
                  - โซเดียมคาร์บอเนต จำนวน  800 กิโลกรัม ผลิตเฮโรอีน 200 กิโลกรัม
รวมสารเคมีที่เผาทำลายทั้งสิ้นจำนวน 21,300 กิโลกรัม ตัดวงจรผลิตยาบ้ากว่า 250 ล้านเม็ด ไอซ์ 5,000 กิโลกรัม หรือ เฮโรอีน 2,500 กิโลกรัม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการยึดสารเหล่านี้เป็นการตัดวงจรในการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้
           นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้ข้อมูลว่า “การเผาทำลายเมทิลีนคลอไรด์ กรดไฮโดรคลอริก และโซเดียมคาร์บอเนตครั้งนี้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2559 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เรื่อง มาตรการป้องกันการลักลอบนำสารเคมี วัสดุหรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ผลิตยาเสพติด ประกอบกับประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง กำหนดชื่อสารเคมี พื้นที่ควบคุม และหน้าที่ของผู้ทำธุรกรรมภายใต้มาตรการป้องกันการลักลอบนำสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ผลิตยาเสพติด พ.ศ. 2559 และให้อำนาจเลขาธิการ ป.ป.ส. มีอำนาจสั่งทำลายสารเคมีที่เจ้าพนักงานกักหรือยึดไว้ แต่ไม่มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ หรือมาพิสูจน์ความสุจริต”
             การเผาทำลายสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินการเผาทำลายสารซาฟรอล (ที่ใช้ในการผลิตยาอี ยาเลิฟ เอ็กซ์ตาซี) ไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2553 ปริมาณรวมน้ำหนัก 50.4 ตัน สามารถนำไปผลิตเป็นยาอี หรือ เอ็กซ์ตาซี ได้กว่า 63 ล้านเม็ด ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 ปริมาณน้ำหนักกว่า 16 ตัน สามารถผลิตยาอีได้กว่า 20 ล้านเม็ด สำหรับสารเคมีที่เผาทำลายในวันนี้ ได้แก่ 
                  1. เมทิลีนคลอไรด์ (ตัวทำละลาย) จำนวน 20,000 กิโลกรัม 
                  2.กรดไฮโดรคลอริก (ตัวทำปฏิกิริยา) จำนวน 500 กิโลกรัม  
                  3.โซเดียมคาร์บอเนต (ตัวทำปฏิกิริยา) จำนวน 800 กิโลกรัม
              เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงความร่วมมือตามโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัยซึ่งประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ได้ดำเนินการสกัดกั้นยาเสพติดและสารเคมีมาอย่างเข้มข้น การเผาทำลายสารเคมีครั้งนี้ เป็นสารเคมีที่ยึด เฉพาะในประเทศไทย โดยในปี 2559 สามารถยึดสารเคมีได้รวม 78,000 กิโลกรัม ความร่วมมือนี้ส่งผลทำให้ลดสารเคมีในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ อันเป็นการตัดวงจรการผลิตยาเสพติดได้จำนวนมหาศาล ลดการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนได้เป็นจำนวนมากซึ่งสามารถลดความเดือดร้อนของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล

search download
Q&A FAQ