เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เป็นประธานในพิธีเปิดตัวรายงาน เรื่อง Precursor Chemical Diversion, Trafficking, and Control Frameworks in Southeast Asia: Developments, Status, and Way Forward ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) โดยมีนายเจเรมี ดักลาส (Mr. Jeremy Douglas) ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก และนายเบรตต์ เพททิต (Mr. Brett Pettit) รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการ ยาเสพติดและการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ (International Narcotics and Law Enforcement Affairs Section: INL) กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมการค้าภายใน และกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงกลุ่มเจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดและอาชญากรรมต่างประเทศประจำประเทศไทย (Foreign Anti-narcotic and Crime Community of Thailand: FANC) ณ สำนักงาน ป.ป.ส.
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงแนวนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งให้ความสำคัญต่อการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าสู่แหล่งผลิตยาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 กระทรวงยุติธรรมได้เสนอแนวทางการควบคุมสารเคมีสำคัญ 3 ชนิด ที่พบสถานการณ์การลักลอบนำไปใช้ในการผลิตยาเสพติด ได้แก่ โซเดียมไซยาไนด์ เบนซิลไซยาไนด์ และเบนซิลคลอไรด์ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และต่อมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกประกาศระงับการนำเข้าและส่งออกเคมีภัณฑ์ดังกล่าว
“สำนักงาน ป.ป.ส. ยังได้เร่งผลักดันความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะในการประชุมกับ 3 ประเทศ ระหว่างไทย สปป.ลาว และเมียนมา เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ภายใต้กรอบแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัยฯ ซึ่งได้เห็นชอบร่วมกันให้มีการติดตามควบคุมสารเคมี ทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวอย่างเข้มงวดและใกล้ชิด ตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก และปริมาณการใช้ตามกฎหมาย ตลอดจนได้เสนอให้จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน หรือ Standard Operating Procedure (SOP) ว่าด้วยการควบคุมไฮดรอกซีลิมีน (Hydroxylimine : HI ) ที่นำไปใช้ในการผลิตคีตามีน สืบเนื่องจากสถานการณ์ การลักลอบผลิตเคตามีนในอนุภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังได้เรียกร้องให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติดให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดการและการทำลายยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและงบประมาณสำหรับการสร้างเตาเผาทำลายยาเสพติดและสารตั้งต้นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขอให้สนับสนุนให้เป็นวาระระหว่างประเทศร่วมกันต่อไป
ในส่วนของนายเจเรมี ดักลาส (Mr. Jeremy Douglas) ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกได้กล่าวว่าสถานการณ์การลักลอบค้ายาเสพติดมีความเปลี่ยนแปลงไป โดยกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติสามารถเข้าถึงและนำสารเคมีไปใช้ในการผลิตยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ และลักลอบขนส่งสารเคมีข้ามพรมแดน รวมถึงทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และเว็บมืด ซึ่ง UNODC ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานในไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ไปใช้ในทางที่ผิด รวมถึงการจัดทำรายงานฉบับนี้
ด้านนายเบรตต์ เพททิต (Mr. Brett Pettit) รองผู้อำนวยการ INL กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดทำรายงานฉบับนี้ ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยมีความยินดีที่ได้สนับสนุนโครงการต่อต้าน ยาเสพติด และการฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่ และยินดีที่จะประสานงานร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. และ UNODC รวมถึงหน่วยงานภาคีอื่น ๆ ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็เผชิญกับปัญหายาเสพติดชนิดสังเคราะห์เช่นกัน โดยเฉพาะการลักลอบค้าสารตั้งต้นที่นำไปใช้ในการผลิตยาเสพติด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อห่วงโซ่อุปทานสารตั้งต้นระหว่างประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง และอาศัยการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดชนิดสังเคราะห์ต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงการบรรยายนายจอห์น วีชีค (Mr. John Wojcik) นักวิเคราะห์ของ UNODC พบความสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกันของสถานการณ์การลักลอบค้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ระหว่างภูมิภาคจากช่องว่างของระบบการกำกับดูแลสารเคมีและแนวปฏิบัติในการควบคุมสารตั้งต้นระดับประเทศของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะในการลดช่องว่างดังกล่าว โดย UNODC พร้อมที่จะให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดแนวทางการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัญหาในภูมิภาคที่มีความสลับซับซ้อน ผ่านการสนับสนุนในเรื่องการฝึกอบรมระดับประเทศและการประชุมหารือในระดับภูมิภาคร่วมกันต่อไป